วันพฤหัสบดีที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2555

วิธีการโอนเงิน/ชำระเงินจากการทำบุญในเน็ต (ตอนที่2)

2.โอนเงินผ่านธนาคารในอินเตอร์เน็ต

      ช่องทางนี้เป็นอีกช่องทางที่สะดวกและทำได้ที่บ้าน เพียงแต่ว่าเราต้องสมัครระบบ Internet Banking กับธนาคารที่เราเปิดบัญชีไว้ ซึ่งเราจะได้ Username และ Password มา
      ข้อมูล Internet Banking ของแต่ละธนาคาร* สำหรับ Login และตรวจสอบค่าธรรมเนียม
      - ธนาคารกรุงเทพฯ  https://ibanking.bangkokbank.com/SignOn.aspx
      - ธนาคารไทยพาณิชย์ https://www.scbeasy.com
      - ธนาคารกสิกรไทย  https://online.kasikornbankgroup.com/K-Online/login.jsp 
      - ธนาคารกรุงศรีอยุธยา https://www.krungsrionline.com/
      - ธนาคารกรุงไทย https://www.ktbonline.ktb.co.th/
      - ธนาคารทหารไทย  https://www.tmbdirect.com/ 
      - ธนาคารออมสิน  https://ib.gsb.or.th/retail/security/commonLogin.jsp 

*กรุณาพิมพ์ชื่อเว็บเองเพื่อความปลอดภัย / จะสังเกตได้ว่าทุกรายการเป็น https://
  

สำหรับขั้นตอนการโอนเงินมีดังนี้
(1) ตรวจสอบความน่าเชื่อถือของบัญชีที่โอนเงินเข้า โดยการดูจากชื่อเว็บไซต์ว่าตรงกับมูลนิธิหรือองค์กรการกุศลที่เราต้องการบริจาคหรือไม่, เอกสารรับรองมูลนิธิหรือองค์กรการกุศลนั้น(ถ้ามี), การจดทะเบียนกับหน่วยงานราชการ
(2) เข้าเว็บ Internet Banking ของแต่ละธนาคารโดยพิมพ์ชื่อเว็บเอง เพื่อป้องกันการถูกหลอกเข้าเว็บปลอม และตรวจสอบว่าเมื่อเข้าไปแล้วที่ชื่อเว็บมีตัวอักษร https:// นำหน้าหรือเปล่า ถ้าไม่มีให้ตรวจสอบอีกครั้งว่าพิมพ์ชื่อเว็บถูกหรือไม่
(3) ใส่ User name และรหัสผ่าน แล้ว login เข้าสู่ระบบ
(4) เข้าเมนูโอนเงินซึ่งแต่ละธนาคารจะมีรูปแบบที่คล้ายกันดังนี้
   - บางธนาคารจะต้องเพิ่มชื่อบัญชีก่อน โดยรับ one-time password ผ่านทางโทรศัพท์มือถือเพื่อยืนยัน
   - บางธนาคารไม่ต้องเพิ่มบัญชีก่อน สามารถโอนแบบไม่บันทึกหมายเลขบัญชีผู้รับเงิน แต่ว่าต้องใช้
      one-time password ผ่านทางโทรศัพท์มือถือเช่นกัน
(5) เมื่อโอนเงินเรียบร้อยให้ Print ไฟล์ PDF เก็บไว้เป็นหลักฐานตาม 1(3)
(6) Log out ออกจากระบบ  

*สำหรับเคล็ดลับประหยัดค่าธรรมเนียม กรณีต้องโอนข้ามธนาคารและไม่จำเป็นต้องให้เงินไปถึงผู้รับทันทีก็คือใช้วิธีโอนแบบรอ 2 วัน ซึ่งจะเสียค่าธรรมเนียมเพียง 12 บาทต่อรายการ สำหรับวงเงินไม่เกิน 100,000 บาท (กรุณาตรวจสอบกับธนาคารของท่านอีกครั้งหนึ่ง).. ประหยัดกว่าโอนธนาคารเดียวกันข้ามเขตอีก

3.โอนเงินผ่านธนาคารช่องทางอื่นๆ

      - ไปที่ตู้ ATM แล้วทำการโอนเงินเข้าบัญชีที่ระบุไว้ในอินเตอร์เน็ต ซึ่งต้องตรวจสอบ
         ความน่าเชื่อถือก่อนตามข้อ 2 (1)
      - ไปที่ตู้ ATM แล้วเลือกรายการอื่นๆ > บริจาค
      - ไปที่เคาน์เตอร์ธนาคารแล้วทำการโอนเงินเข้าบัญชีที่ระบุไว้ในอินเตอร์เน็ต ซึ่งต้องตรวจสอบ
         ความน่าเชื่อถือก่อนตามข้อ 2 (1)

4.ช่องทางอื่นๆ

   *ขอให้ตรวจสอบความน่าเชื่อถือของเว็บไซต์ที่ลงข้อมูลตาม 2(1)
      - บริจาคผ่าน SMS ซึ่งจะหักเงินจากค่าบริการมือถือของเรา
      - โทรศัพท์ ซึ่งจะหักเงินจากค่าบริการโทรศัพท์ของเรา


ใครมีประสบการณ์ในการทำธุรกรรมอย่างไรก็มาแชร์กันได้นะครับ

ทำบุญออนไลน์ก็ลดหย่อนภาษีได้!!


แม้ว่าการทำบุญควรจะทำเพื่อตัดกิเลสและสร้างกุศล แต่ในเมื่อกฎหมายให้สิทธิ์ในการลดหย่อนภาษีกับเรา เราก็ต้องลองชั่งน้ำหนักดูว่า สามารถนำเงินภาษีส่วนดังกล่าวไปทำประโยชน์อย่างอื่นได้มากกว่าหรือเปล่า ถ้าคำตอบคือ"ใช่"ก็ดำเนินการตามด้านล่างก่อนบริจาค

1.สอบถามกับทางผู้ดูแลเว็บไซต์ว่าสามารถออกใบเสร็จรับเงินที่ใช้หักภาษีส่งมาทางไปรษณีย์
   ได้หรือเปล่า
2.ตรวจสอบรายชื่อว่าองค์กรการกุศลหรือมูลนิธินั้นอยู่ในรายการลดหย่อนภาษีหรือไม่
   จากเว็บไซต์กรมสรรพากร 
3.ดำเนินการบริจาค > บทความแนะนำ
4.อย่าไปคาดหวังมากว่าจะต้องได้ใบเสร็จรับเงิน เพราะว่าจะทำให้จิตใจขุ่นมัวและรับอานิสงส์
   จากการทำบุญไม่เต็มที่
5.สำหรับเว็บไซต์ที่ผมเคยทำบุญแล้วได้รับใบเสร็จมาลดหย่อนภาษีมีตามนี้ (เป็นตัวอย่างเท่านั้นนะครับ)
    - สภากาชาดไทย
    - มูลนิธิศุภนิมิตประเทศไทย
    - มูลนิธิเด็กโสสะ
5.ถ้าได้ใบเสร็จรับเงินมาแล้วก็เก็บไว้ให้ดีๆ แล้วนำมาใช้คำนวณภาษีและอ้างอิงเป็นหลักฐานเมื่อยื่นแบบแสดงภาษีเงินได้ฯ

ตามที่กฎหมายกำหนด สามารถแบ่งการบริจาคได้เป็นสองประเภท 1. สามารถลดหย่อนเท่ากับเงินบริจาค 2. สามารถลดหย่อนสองเท่าของเงินบริจาค รายละเอียดจากเว็บ www.rd.go.th ตามด้านล่าง


1. เงินบริจาค  เมื่อหักลดหย่อนต่าง ๆ หมดแล้ว เหลือเท่าใดให้หักลดหย่อนได้อีกสำหรับ เงินบริจาค เงินบริจาคที่หักค่าลดหย่อนได้นั้นผู้มีเงินได้ ต้องบริจาคเป็นเงินให้แก่การกุศลสาธารณะ โดยหักได้ เท่าจำนวนเงินที่จ่ายจริงแต่ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักค่าลดหย่อนต่าง ๆ ข้างต้นแล้ว การบริจาค ได้แก่
(1) การบริจาคเงินให้แก่วัดวาอาราม สภากาชาดไทย สถานพยาบาล และสถานศึกษาของทางราชการ หรือองค์การของรัฐบาล สถานศึกษาเอกชน สถานสาธารณกุศล และกองทุนสวัสดิการภายในส่วนราชการ (ต้องเป็นองค์การสถานสาธารณกุศลตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา)
(2) การบริจาคเงินให้แก่คณะกรรมการอำนวยการจัดสร้างสวนสาธารณะเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เนื่องในวโรกาสพระชนมายุครบ 80 พรรษา
(3) การบริจาคเงินให้แก่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีในโครงการปลูกป่าเทิดพระเกียรติเฉลิมฉลองพระชนมายุครบ 90 พรรษา
(4) การบริจาคเงินให้แก่กองทัพอากาศในโครงการก่อสร้างพระมหาธาตุเจดีย์นภพลภูมิสิริฯ
(5) การบริจาคเงินให้แก่กองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา
(6) การบริจาคเงินให้แก่กองทุนปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสทรงครองราชย์ปีที่ 50
(7) การบริจาคเงินให้แก่โครงการอาคารเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสทรงครองสิริราชย์สมบัติครบ 50 ปี
ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา
(8) การบริจาคเงินให้แก่โครงการสืบสานพระราชปณิธาน "กาญจนาภิเษก"
(9) การบริจาคเงินให้แก่โครงการร้อยใจช่วยเยาวชนไทยในภาวะวิกฤต
(10) การบริจาคเงินให้แก่โครงการโพธิ์ทองของชาวไทย
(11) การบริจาคเงินให้แก่โครงการปลูกป่าชายเลนถาวรเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในวโรกาสทรงพระชนม์มายุ 72 พรรษา
(12) การบริจาคเงินให้แก่ส่วนราชการที่จัดขึ้นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี
(13) การบริจาคเงินให้แก่กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ กองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม กองทุนคุ้มครองเด็กและกองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติ
(14) การบริจาคเงินเพื่อการกีฬา ให้แก่การกีฬาแห่งประเทศไทยเพื่อส่งเสริมการกีฬา คณะกรรมการกีฬาจังหวัดที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยการกีฬาแห่งประเทศไทย เพื่อส่งเสริมกีฬาในจังหวัด สำนักงานพัฒนาการกีฬาและนันทนาการเพื่อการจัดการแข่งขันกีฬานักเรียน
หรือสมาคมกีฬาสมัครเล่น
(15) การบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย อัคคีภัย หรือภัยธรรมชาติอื่นที่เกิดขึ้นในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2554 เป็นต้นไป
โดยมีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นเป็นตัวแทนรับเงิน ทั้งนี้ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด 

2. เงินสนับสนุนเพื่อการศึกษา  ได้แก่ เงินที่จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษา มีสิทธิหักลดหย่อนได้ 2 เท่าของจำนวนเงินที่ได้จ่ายไปจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินคงเหลือหลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่น ๆ แล้ว

วิธีการโอนเงิน/ชำระเงินจากการทำบุญในเน็ต (ตอนที่1)



หลายคนคงจะกลัวกับการโอนเงินหรือใช้บัตรเครดิตทางอินเตอร์เน็ตแต่จากประสบการณ์ที่ผมใช้งานระบบการชำระเงินแบบนี้มาเป็นระยะเวลาหลายปี ประเทศไทยได้มีการปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยมากขึ้นเป็นลำดับ ถ้าเปรียบเทียบระบบส่วนใหญ่ในประเทศเรา กับระบบที่ใช้ในอเมริกา (Amazon.com, Google Play) พบว่าขั้นตอนการรักษาความปลอดภัยของประเทศไทยนั้นดีกว่าเพราะว่ามีการตั้งรหัสผ่านส่วนตัวในกรณีของบัตรเครดิต(คล้ายกับรหัสเอทีเอ็ม) และการใช้ One-time password หรือการส่ง Password ชั่วคราวผ่านทาง SMS ในกรณีการเพิ่มบัญชีสำหรับโอนเงินโดย Internet Banking


มาดูรายละเอียดสำหรับแต่ละช่องทางกันครับ

1.บัตรเครดิต

       เนื่องจากมีองค์กรการกุศลบางแห่งช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่ต้องการทำบุญโดยการอนุญาตให้เลือกใช้บัตรเครดิตในการบริจาคเงินได้ ดังนั้นผมจึงขอนำเสนอแนวทางในการใช้งานและข้อแนะนำที่จะใช้อย่างปลอดภัยครับ



(1) เริ่มต้นจากการเข้าเว็บที่ต้องการบริจาคเงิน แล้วเข้าหัวข้อบริจาค เมื่อกรอกข้อมูลเสร็จให้เลือกวิธีการ"ชำระเงินโดยบัตรเครดิต" แล้วกดยืนยัน หลังจากนั้นจะมีการเปลี่ยนหน้าไปยังธนาคารที่มูลนิธิหรือองค์กรการกุศลนั้นใช้บริการอยู่ - จุดนี้เราต้องระวังว่าที่ชื่อเว็บไซต์ด้านบนมีตัวอักษร https:// นำหน้าหรือเปล่า ถ้าไม่มีก็ควรตั้งขอสงสัยว่ามีความเสี่ยง และถ้าไม่มั่นใจก็ห้ามกรอกข้อมูลใดๆ

(2) เมื่อเรากรอกข้อมูลบัตรเครดิตเสร็จ (ปกติจะถาม เลขที่บัตร, ชื่อหน้าบัตร, วันหมดอายุ, เลขหลังบัตร) ให้ตรวจสอบยอดเงินรวมอีกครั้งหนึ่งก่อนกดชำระเงิน จากนั้นจะมีการเชื่อมโยงไปยังหน้าจอของธนาคารผู้ออกบัตรเพื่อใส่ตัวเลขรหัสลับส่วนตัว 6 หลัก** เมื่อใส่รหัสเสร็จก็ให้กดยืนยันการชำระเงินอีกครั้งหนึ่ง
*ถ้าเป็นเว็บไซต์ของอเมริกา (Amazon.com, Google Play) เขาใช้แค่ข้อมูลบนบัตรก็หักเงินคุณได้ครับ เพราะฉะนั้นอย่าปล่อยให้บัตรของคุณไปตกอยู่ในมือคนอื่นเด็ดขาด
**กรณีใช้บัตรเครดิตชำระเงินทางอินเตอร์เน็ตเป็นครั้งแรกจะต้องตั้งรหัสก่อน (ตั้งตอนชำระเงิน
  หรือตั้งโดยเข้าไปยังเว็บไซต์ของธนาคารผู้ออกบัตรก่อนหน้าที่จะทำธุรกรรม)
         VISA - Verify by VISA > ตัวอย่างของไทยพาณิชย์
         MasterCard - MasterCard Secure code > ตัวอย่างของไทยพาณิชย์ 
   






(3) จะมีหน้าจอขึ้นมาว่าชำระเงินเรียบร้อย ให้สั่ง Print เป็นไฟล์ PDF เพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐาน
     (เพื่อยืนยันจำนวนเงิน)
      สำหรับคนที่ไม่เคย Print ไฟล์ PDF มีข้อแนะนำดังนี้
      - ดาวน์โหลดติดตั้งโปรแกรม Primo PDF ซึ่งเป็นโปรแกรมฟรี
      - สั่ง Print โดยการกดปุ่มในหน้าใบเสร็จรับเงิน หรือทำตามขั้นตอนด้านล่าง
         > Internet Explorer: กดรูปเฟืองตรงมุมบนขวา > Print > Print...
         > Google Chrome: กดรูปประแจตรงมุมบนขวา > Print...
         > Safari: กดที่เมนู File > Print...
         > Firefox: กดคำว่า Firefox มุมบนซ้าย > Print...      
      - เลือก Printer เป็น Primo PDF แล้วกด Print
      - ตั้งค่าความละเอียดตามรูปด้านล่าง (หรือตามความต้องการ)       











   
       
   


      - Save ไฟล์เก็บไว้เป็นหลักฐาน

(4) เมื่อได้รับใบแจ้งหนี้ให้ตรวจสอบเงินที่ถูกหักว่าตรงกับที่เราบริจาคหรือไม่ และมีรายการใดที่ผิดปกติก็ให้รีบติดต่อธนาคาร เพราะถ้ารายการเหล่านั้นไม่ได้เกิดจากความประมาทของเราเองทางธนาคารเขาจะรับผิดชอบ


อ่านอีก 3 วิธีการที่เหลือใน "ตอนที่2"